ประวัติสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นนิติบุคคลเอกชนประเภทสมาคมกีฬา ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลฟุตบอล ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเข้าร่วมมากับสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2468 และได้เข้าร่วมกับสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2497

เมื่อปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่นเทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำกีฬาฟุตบอลเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยาม ขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ได้มีการจัดการแข่งขัน ในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมชาติสยาม (ปัจจุบันคือ ฟุตบอลทีมชาติไทย) กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนาม กรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน โดยมี พระยาประสิทธิ์ศุภการ หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญต่อมาโปรดเกล้าฯ  เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ เป็นนายกสภาฯ และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นไปเป็น พระยาปรีชานุสาสน์) เป็นเลขาธิการต่อมาในปลายปีเดียวกัน จึงเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) และฟุตบอลถ้วยเล็ก (ถ้วยพระราชทาน ข) ขึ้นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 และสืบเนื่องมาจากที่รัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นชื่อในปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติเป็น ฟุตบอลทีมชาติไทย โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทย ลงแข่งในระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2499 จากนั้นสมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อปี พ.ศ. 2500 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟเอฟ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2527

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 สมาคมฯ ได้จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลใหม่เป็นระดับชั้น (Divisions) โดยตั้งวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ ตามรูปแบบของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ในขณะนั้นโดยนอกจากถ้วยพระราชทาน ประเภท ก และถ้วยรางวัลพระราชทาน ประเภท ข แล้วยังเพิ่มถ้วยพระราชทาน ค และ ง เพื่อจะได้มีอันดับเพิ่มเติมคือ 1 – 4 ตลอดจนก่อตั้งการแข่งขันระบบแพ้คัดออก (Knock – Out) เพื่อชิงถ้วยระดับสโมสรคือ ถ้วยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2513 รวมถึงระดับนานาชาติคือ คิงส์ คัพ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2511 และควีนส์คัพ เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดการแข่งขันในระดับอื่นเช่น ฟุตบอลนักเรียน ฟุตบอลอาชีวศึกษา ฟุตบอลเยาวชนและอนุชน ฟุตบอลเตรียมอุดมศึกษา ฟุตบอลอุดมศึกษา รวมทั้งกำกับดูแลในการส่งทีมฟุตบอลต่างๆ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระหว่างประเทศอีกด้วย

ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ

ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติก่อตั้งขึ้นจากดำริของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่ต้องการให้ทั้ง 11 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศูนย์ฝึกซ้อมการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ วรวีร์ซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมฯ ในขณะนั้น เสนอบริจาคที่ดินขนาด 20 ไร่ ริมถนนมิตรไมตรี แขวงหนองจอก ให้วิจิตรซึ่งเป็น นายกสมาคมฯ ในขณะนั้น นำไปก่อตั้งโครงการดังกล่าว โดยเสนอของบประมาณจากโครงการโกล (Goal!) ของฟีฟ่า เป็นเงิน 860,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเริ่มการก่อสร้างระหว่าง พ.ศ 2545 – 2549 เป็นระยะเวลาถึง 4 ปี